Skip to main content

หน้าหลัก

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

          ข้อมูลจากสำนักงานวางแผนเศรษฐกิจและสถิติบรูไนปี 2564 ระบุว่าจำนวนประชากรในประเทศบรูไนประกอบด้วยพลเมืองบรูไนและผู้มีถิ่นพำนักถาวรในประเทศบรูไนจำนวน 353,313 คน แรงงานต่างชาติ/คนต่างชาติจำนวน 76,686 คน รวมทั้งหมด 429,999 คน โดยเป็นประชากรมีงานทำจำนวน  216,900 คน ประชากรว่างงาน 17,400 คน โดยอัตราการว่างงานร้อยละ 8.4 

           ในปีงบประมาณ 2565 (ตุลาคม 2564 – กรกฎาคม 2565) ตามสถิติของกรมการจัดหางาน มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานในประเทศบรูไนรวมทั้งคนงานเดิมที่กลับไปทำงานบรูไนอีก (Re-entry) จำนวน 134 คน โดยสำนักงานแรงงานในประเทศบรูไนรับรองเอกสารการจ้างแรงงานไทยใหม่จำนวน 60 คน ทั้งหมดเป็นการเดินทางไปทำงานด้วยตนเอง แยกเป็นแรงงานระดับวิชาชีพและระดับทักษะฝีมือจำนวน 54 คน และแรงงานทั่วไปจำนวน 6 คน  ตำแหน่งงานที่แรงงานไทยที่เดินทางมาทำงานบรูไน ได้แก่ ตำแหน่ง Marker & Fitter, Welder, Field Service Specialist, Supervisor, Operator (ภาคอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ) Horticulture (ภาคการเกษตร) Chef, Cook, Bartender (ร้านอาหาร) Auto Painter (อู่ซ่อมรถยนต์) Reflexologist (ร้านนวดสปา) และอื่นๆ

             ในช่วงโรคโควิด-19 เกิดการระบาดในประเทศบรูไนระลอกสองเมื่อปลายปี 2564 มีบริษัทเอกชนบรูไนกว่า 100 บริษัท แจ้งยกเลิกกิจการกับทางการบรูไน เนื่องจากได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะบริษัทในภาคอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ และมี 240 บริษัท ยื่นคำร้องขอการสนับสนุนค่าจ้างให้พนักงานตามโครงการช่วยเหลือของรัฐบาลบรูไน โดยร้อยละ 80 มีคุณสมบัติได้รับความช่วยเหลือตามระเบียบ มีลูกจ้างบางตำแหน่งงานถูกยื่นข้อเสนอให้ลาพักงานโดยสมัครใจและไม่รับเงินเดือนจำนวน 426 คน ลาพักงานโดยได้รับเงินช่วยเหลือบางส่วน 480 คน แรงงานต่างชาติเดินทางกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก โดยบางส่วนไม่ได้รับการต่อสัญญาจ้างหลังสิ้นสุดการทำงานและมีบางส่วนที่สมัครใจเดินทางกลับ ในขณะเดียวกัน ประเทศบรูไนก็มีมาตรการคัดกรองแรงงานต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศบรูไน โดยกำหนดให้นายจ้างต้องดำเนินการประกาศตำแหน่งงานว่าง ที่ศูนย์การจ้างงานบรูไน (Job Center Brunei) โดยใช้เวลาประมาณ 2 เดือน เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานท้องถิ่นได้รับสิทธิเลือกเข้าไปทำงานก่อน พร้อมนี้บริษัทต้องลงทะเบียนกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพลูกจ้างท้องถิ่นบรูไน (Tabung Amanah Pekerja/TAP) เพื่อตรวจสอบอัตราส่วนจำนวนแรงงานท้องถิ่นบรูไนและแรงงานต่างชาติในบริษัท เมื่อถึงกำหนดเวลาแล้วไม่มีแรงงานท้องถิ่นบรูไนสนใจเข้าทำงานในตำแหน่งที่ประกาศรับสมัครดังกล่าว ศูนย์การจ้างงานบรูไนจะออกหนังสือรับรองให้นายจ้าง เพื่อใช้ประกอบในการยื่นคำร้องขออนุญาตนำเข้าแรงงานต่างชาติกับกรมแรงงานบรูไนต่อไป ทำให้สถานประกอบการภาคเอกชนบรูไนบางส่วนขาดแคลนกำลังแรงงาน       

  • นโยบายการนำเข้า/การจ้าง แรงงานต่างชาติ

                ประเทศบรูไน มีวิสัยทัศน์ Brunei Vision 2035 (พ.ศ.2578) โดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนให้บรูไนเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้

  1. การประสบความสำเร็จของประชาการที่มีการศึกษาและมีทักษะสูง ซึ่งวัดจากมาตรฐานสากล
  2. การมีคุณภาพชีวิตที่ดีติดอันดับ 1 ใน 10 อันดับโลก
  3. มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจแบบไดนามิกและยั่งยืนด้วยรายได้ต่อหัวของประชากร

          เพื่อให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ดังกล่าว จึงมีกลยุทธ์ ดังนี้

  1. กลยุทธ์ทางการศึกษาที่จัดเตรียมให้เยาวชนมีความพร้อมเพื่อการจ้างงานและบรรลุความสำเร็จในโลกที่มีการแข่งขันและใช้ฐานความรู้มากขึ้น
  2. กลยุทธ์ทางเศรษฐกิจที่จะสร้างแหล่งการจ้างงานใหม่ให้กับประชาชนและขยายโอกาสทางธุรกิจในบรูไน ด้วยการส่งเสริมการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งในอุตสาหกรรมปลายน้ำและในกลุ่มเศรษฐกิจนอกเหนือจากภาคอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ
  3. กลยุทธ์การรักษาความปลอดภัยที่จะปกป้องเสถียรภาพทางการเมืองและอำนาจอธิปไตยในฐานะประเทศชาติ ที่เชื่อมโยงประสิทธิภาพทางการ

ป้องกันประเทศและทางการทูต ที่สามารถต่อสู้ภัยคุกคามจากโรคและภัยพิบัติทางธรรมชาติ

  1. กลยุทธ์การพัฒนาสถาบันที่จะช่วยยกระดับการกำกับดูแลที่ดีทั้งในภาครัฐและเอกชน การบริการภาครัฐที่มีคุณภาพสูง ทันสมัย ปฏิบัติตามกฎหมาย และอยู่ในกรอบการกำกับดูแล มีขั้นตอนทางราชการที่มีประสิทธิภาพ ลดระบบราชการที่ล้าหลัง (bureaucratic)
  2. กลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจในท้องถิ่นที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงทำให้ชาวบรูไนมลายูสามารถบรรลุความเป็นผู้นำในธุรกิจและอุตสาหกรรมโดยการพัฒนาความแข็งแกร่งในการแข่งขัน
  3. กลยุทธ์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยสร้างให้มั่นใจในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลและผ่านความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกโดยให้ความสำคัญกับการศึกษาสุขภาพและอุตสาหกรรมเป็นพิเศษ
  4. กลยุทธ์การประกันสังคมที่สร้างความมั่นใจว่าประชาชนทุกคนได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม
  5. กลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่รับประกันการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและที่อยู่อาศัยทางวัฒนธรรมของบรูไนอย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้สุขภาพและความปลอดภัยสอดคล้องกับแนวปฏิบัติสากลระดับสูงสุด

          ประเทศบรูไนได้มีนโยบายส่งเสริมให้นายจ้างหันมาจ้างคนท้องถิ่น (Localization Policy) และส่งเสริมให้คนท้องถิ่นบรูไนเข้าไปทำงานในภาคเอกชนมากขึ้น รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์การจ้างงานบรูไน (Job Centre Brunei) เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมให้คนท้องถิ่นไปทำงานภาคเอกชนและลดอัตราการว่างงาน อย่างไรก็ตาม ประเทศบรูไนยังมีความจำเป็นที่จะต้องจ้างแรงงานต่างชาติในตำแหน่งที่นายจ้างไม่สามารถจ้างคนท้องถิ่นได้ กรมแรงงานบรูไนได้กำหนดกรอบแนวทางในการดำเนินการนำเข้าแรงงานต่างชาติมาประเทศบรูไน ดังนี้

  1. รัฐบาลจะออกใบ LPA (หนังสืออนุญาตจ้างแรงงานต่างชาติ) ให้แก่นายจ้างที่มีคุณสมบัติและสมรรถนะครบถ้วน และมีความจำเป็นอย่างแท้จริงในการจ้างงานแรงงานต่างชาติเท่านั้น (Only for employers who are “qualified” “capable” and “genuine”)
  2. รัฐบาลอนุญาตให้จ้างงานแรงงานต่างชาติเฉพาะในตำแหน่งที่ไม่มีคนท้องถิ่นมาสมัครเท่านั้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุเชิงคุณสมบัติ ประสบการณ์ในการทำงาน หรือ ความสนใจตำแหน่งงานดังกล่าวก็ตาม
  3. แรงงานต่างชาติที่ได้รับการจ้างงาน จะต้องมีคุณสมบัติและทักษะที่เหมาะสม
  4. รัฐบาลบรูไนจะมีการเฝ้าระวังและควบคุมจำนวนและค่าจ้างแรงงานต่างชาติที่เพิ่มสูงขึ้น
  5. รัฐบาลบรูไนอาจใช้มาตรการ “แช่แข็ง” ตำแหน่งงานบางประเภทที่อยู่ในความสนใจ และเป็นตำแหน่งงานที่อาจรับคนท้องถิ่นเข้าทำงานได้

              นอกจากนี้ รัฐบาลบรูไนไม่มีนโยบายการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ โดยทั่วไปค่าจ้างในภาคเอกชนจะเป็นไปตามกลไลของตลาด และเงินเดือนขั้นต่ำ ที่มีการรับสมัครลูกจ้างเข้าทำงานในภาครัฐอยู่ที่จำนวน 495 ดอลลาร์บรูไนต่อเดือน หรือประมาณ 12,375 บาท

 

 

 


23281
TOP