บรูไน ฯ ใช้กลไกพหุภาคีทั้งในระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง เสริมสร้างความมั่นคงและผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอาเซียน (ซึ่งถือเป็นเสาหลักของนโยบายต่างประเทศบรูไนฯ) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก การประชุมเอเชีย-ยุโรป กลุ่มประเทศเครือจักรภพ องค์การการประชุมอิสลาม และสหประชาชาติ ในระดับทวิภาคี บรูไนฯ พยายามเป็นมิตรกับนานาประเทศทั้งในด้านการค้าและการลงทุนเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และยังได้ร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารกับประเทศต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการป้องกันประเทศ
วัตถุประสงค์หลักของนโยบายต่างประเทศบรูไนฯ คือการส่งเสริมผลประโยชน์แห่งชาติ อันได้แก่ การรักษาอธิปไตย อิสรภาพและบูรณภาพแห่งดินแดน การสร้างความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและสังคม และการรักษาเอกลักษณ์ทางการเมือง วัฒนธรรมและศาสนา รวมทั้งส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง ความมีเสถียรภาพและความรุ่งเรืองในระดับภูมิภาคและระดับโลก
หลักการดำเนินนโยบายต่างประเทศของบรูไน ฯ ที่สำคัญ ได้แก่ การเคารพในอธิปไตย อิสรภาพ และบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศต่าง ๆ การยอมรับในสถานภาพที่เท่าเทียมกันของประเทศต่าง ๆ การไม่แทรกแซงในกิจการภายในซึ่งกันและกัน การแก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธีและความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน
การที่ประมุขของประเทศซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลเสด็จ ฯ เยือนประเทศต่าง ๆ ด้วยพระองค์เองเพื่อสร้างบทบาทของบรูไน ฯ ในเวทีระหว่างประเทศ ทำให้บรูไน ฯ ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศทั้งในและนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บรูไนฯ สนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศแบบพหุภาคีนิยม(multilateralism) โดยเฉพาะในการดำเนินการของประชาคมระหว่างประเทศภายใต้ “Millennium Goals” และมองว่าปัญหาที่ประเทศต่าง ๆ กำลังเผชิญอยู่ในโลกปัจจุบันมีความหลากหลายมากขึ้นและส่งผลกระทบในวงกว้าง ปัญหาที่เกิดในประเทศหนึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ ด้วย ฉะนั้นการแก้ปัญหาต่าง ๆ ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคง ความสงบสุขและความเจริญรุ่งเรืองของสังคมระหว่างประเทศนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกประเทศ
6582